ศูนย์หัวใจ

ศูนย์หัวใจกรุงเทพสนามจันทร์ ภายใต้การบริหารงานโดย โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อให้บริการตรวจ วินิจฉัย และการทำหัตถการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูหัวใจ

โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ดังนี้
การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (128 Slices CT Angiogram : CTA) การตรวจด้วยเครื่อง 128 slice CT Scan เพื่อดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery) โดยเฉพาะ ซึ่งมีความแม่นยำของการตรวจใกล้เคียงกับการฉีดสีผ่านสายสวนหลอดเลือด และยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ
เครื่องตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของระบบหลอดเลือดแดง (ABI-Vascular Screening) เพื่อวินิจฉัยการอุดตันและการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง โดยใช้เครื่องมือวัดเพื่อเปรียบเทียบระดับความดันเลือดจากหลอดเลือดแดงที่ข้อเท้า เพื่อเปรียบเทียบกับความดันหลอดเลือดแดงที่แขน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทราบถึงภาวะของเส้นเลือด ว่ามีความผิดปกติที่อาจจะก่อให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง อันเป็นสาเหตุของหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันบริเวณเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของขา และปลายเท้า ซึ่งทำให้มีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ หรือผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดตามมาได้ หากเป็นในขั้นรุนแรงอาการนี้อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitor) การบันทึกสภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) และหาสาเหตุของอาการใจสั่น หรืออาการหน้ามืดเป็นลม
เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST) เครื่องวัดสมรรถภาพของหัวใจ ขณะหัวใจกำลังทำงานในสภาวะต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจตีบ ซึ่งเมื่อมีการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งในบริเวณที่เส้นเลือดตีบจะไม่สามารถขยายตัวส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยจะแสดงอาการ อาทิ การเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยมากกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติ
การตรวจหัวใจด้วยการกลืนกล้อง (Probe) เข้าทางหลอดอาหาร (Tran esophageal echocardiogram : TEE) การตรวจหาความผิดปกติภายในหัวใจ ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจดูความผิดปกติของหัวใจได้ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่สามารถตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดธรรมดา
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography : Echo) การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านผนังหน้าอก เป็นการตรวจเพื่อดูขนาดของหัวใจ การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพและการทำงานของลิ้นหัวใจ ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ และตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยหอบ และแน่นหน้าอก
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) การตรวจกระแสไฟฟ้าในหัวใจ เป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในเบื้องต้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และหัวใจโต เป็นต้น
การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Score CT) การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก ไม่เจ็บ ไม่ต้องเตรียมตัวพิเศษ และไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง คลอเรสเตอรอลสูง หรือสูบบุหรี่
การตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดแดง (Coronary Artery Angiography : CAG) เป็นการตรวจโดยใช้รังสี X-ray ร่วมกับการฉีดสารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจโดยตรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดและตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบ รวมไปถึงความรุนแรงและจำนวนมากน้อยของการตีบ เพื่อให้แพทย์ได้ตัดสินใจเรื่องการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การทำการขยายด้วยบอลลูน การใส่ขดลวด หรือการทำการผ่าตัดบายพาส หรือการใช้ยาที่เหมาะสม
การรักษาหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ผ่าตัด โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดแดง และการใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention : PCI) เป็นการรักษาโดยทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด หลังจากนั้นตามด้วยการใช้ขดลวดที่ไม่ใช่เหล็กเป็นโลหะสังเคราะห์ ใส่ขยายเพื่อรักษาสภาพของหลอดเลือดไม่ให้กลับมาตีบซ้ำและคงสภาพของหลอดเลือดที่เปิดด้วยการทำบอลลูนไว้